นิทรรศการเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

นิทรรศการเทิดพระเกียรติ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
หรือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

  • เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี
  • ครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 นับเป็นพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงครองราชสมบัติยาวนานที่สุดในประเทศไทย
  • พระองค์เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470
  • เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
  • และเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย

วันที่ 19 ตุลาคม 2515 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่ครั้งแรกของโลกด้วยพระองค์เอง ณ เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และทรงพระปรีชาสามารถทำให้ฝนตกลงตรงเป้าหมาย ท่ามกลางสายตาของคณะผู้แทนของรัฐบาลจากต่างประเทศเป็นครั้งแรก และในเวลาต่อมา ได้มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานโครงการพระราชดำริ ฝนหลวง” (Artificial Rain) เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนทุกข์ยากของราษฎรที่ขาดแคลนนํ้าอุปโภคบริโภคและการเกษตร คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบถวายการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในฐานะที่ทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” พร้อมทั้งกำหนดให้วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปีเป็น “วันเทคโนโลยีของไทย”

ฝนหลวง

"...มาเงยดูท้องฟ้า มีเมฆ ทำไมมีเมฆอย่างนี้ ทำไมจะดึงเมฆนี่ลงมาให้ได้ ก็เคยได้ยินเรื่องการทำฝน ก็มาปรารมภ์กับคุณเทพฤทธิ์ ฝนทำได้ มีหนังสือ เคยอ่านหนังสือทำได้... "

โครงการพระราชดำริฝนหลวง เกิดขึ้นเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่แห้งแล้งทุรกันดาร ได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อน ทุกข์ยากของราษฎร และเกษตรกร จึงพระราชทานแนวความคิดแก่หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล ไปดำเนินการ ซึ่งต่อมาได้เกิดเป็นโครงการค้นคว้าทดลองปฏิบัติการฝนเทียมหรือฝนหลวงขึ้น ด้วยความสำเร็จของโครงการ จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงขึ้น ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเป็นหน่วยงานรองรับโครงการพระราชดำริฝนหลวงต่อไป

พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย

จากการที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในเขตพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะที่จังหวัดนราธิวาส พบว่าพื้นที่ส่วนมากมีสภาพเป็น “ดินพรุ” ซึ่งเป็นพื้นดินที่มีสภาพน้ำขัง เป็นดินเปรี้ยวที่มีสภาพความเป็นกรดอย่างรุนแรง และเป็นดินที่มีคุณภาพต่ำ ไม่สามารถทำการเกษตรได้ จึงทรงใช้พระอัจฉริยะภาพคิดค้นวิธีการที่เรียกว่า “แกล้งดิน” หรือ “ทำให้ดินโกรธ” โดยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไป เพื่อให้ดินปล่อยแร่ธาตุที่เป็นกรดออกมา กลายเป็นดินที่มีกรดจัด เปรี้ยวจัด

แกล้งดิน

“...ให้มีการทดลองทำดินให้เปรี้ยวจัด โดยการระบายน้ำให้แห้ง และศึกษาวิธีการแก้ดินเปรี้ยว เพื่อนำผลไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้แก่ราษฎรที่มีปัญหาในเรื่องนี้ ในเขตจังหวัดนราธิวาส โดยให้ทำโครงการศึกษาทดลองในกำหนด 2 ปี และพืชที่ทดลองควรเป็นข้าว...”

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทาน
ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จ.นราธิวาส วันที่ 16 กันยายน 2527

วันที่ 5 ตุลาคม 2535 ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินโครงการของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีการทดลองปรับปรุงดินที่มีสภาพความเป็นกรดมาก โดยการใช้นํ้าจืดจากอ่างเก็บนํ้าชะล้างกรดออกจากดิน ทำให้ดินมีคุณภาพดีขึ้นจนใช้ปลูกข้าวได้เพียงพอกับการบริโภคและมีเหลือจำหน่าย ซึ่งเทคนิคนี้สามารถนำไปขยายผลในการปรับปรุงดินเปรี้ยวในพื้นที่เพาะปลูกอื่น ๆ ได้ด้วย เกิดเป็นโครงการแกล้งดินต่อมา ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ดำเนินโครงการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็น “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” และกำหนดให้วันที่ 5 ตุลาคมของทุกปี เป็น“วันนวัตกรรมแห่งชาติ”

“…วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเจริญของบ้านเมือง เราจึงควรสนับสนุนให้มีการค้นคิดเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาวะและความต้องการของประเทศขึ้นใช้เองอย่างจริงจัง ถ้าเราสามารถค้นคิดได้มากเท่าไร ก็จะเป็นการประหยัด และช่วยให้สามารถนำไปใช้ในงานต่าง ๆ ได้กว้างขวางยิ่งขึ้นเท่านั้น…”

พระราชดำรัส พระราชทานเนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติและครบรอบ 120 ปี หว้ากอ
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 1 สิงหาคม 2531

พระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีมากมายหลายด้านเหลือคณานับ ทั้งเรื่องดิน นํ้า ภูมิอากาศ เครื่องจักร การสื่อสาร พลังงาน ดังจะเห็นจากพระราชกรณียกิจนานัปการที่ทรงพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมายหลายโครงการ

  • วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการเกษตร
  • วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ
  • วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต
  • วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาพลังงาน
  • วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการเรียนรู้
  • วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสารสนเทศและการสื่อสาร